Fixed and Stitch: 5.ฝีเข็มเย็บพื้นฐาน

(Simple handstitch)

การซ่อมแซมเสื้อผ้าหรือเครื่องใช้มีวิธีทำได้หลายอย่าง เช่น จ้างช่างเย็บผ้าที่เราเห็นตามริมทางหรือในตลาด จ้างบริษัทที่ให้บริการซักแห้ง หรือลงมือทำด้วยตัวเอง ซึ่งวิธีหลังเหมาะกับการซ่อมแซมเล็กน้อยๆ ที่ไม่ซับซ้อน เช่น กระดุมหลุด ตะเข็บปริ แต่ถ้ามีทักษะการเย็บดีอยู่แล้ว การลงมือทำเองก็ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้

ในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะฝีเข็มที่ใช้กันบ่อยๆ ในงานซ่อมแซมเสื้อผ้า

ด้นตะลุย หรือ Running Stitch คือการเย็บขึ้นลงไปบนเนื้อผ้า ใช้เย็บผ้าสองชิ้นหรือมากกว่าให้ติดกัน การเย็บฝีเข็มถี่ๆ จะช่วยให้ตะเข็บที่เย็บแข็งแรงมากขึ้น ที่นิยมกันคือ  3 ฝีเข็มต่อความยาว 1 เซนติเมตร

เนา หรือ Tacking Stitch เย็บแบบเดียวกับด้นตะลุย แต่ฝีเข็มยาวกว่า พวกช่างตัดเสื้อจะใช้เวลาที่ต้องการให้ผ้าติดกันชั่วคราว เช่น การขึ้นตัวอย่าง  ในกรณีที่เราไม่มีเข็มหมุด วิธีนี้ช่วยได้

วิธีทำ สนเข็ม ทำปมด้าย แล้วเริ่มเย็บ โดยแทงเข็มจากด้านหลังผ้าขึ้นมาด้านหน้า แล้วแทงเข็มขึ้น–ลงไปเรื่อย (ด้นตะลุยกับเนาใช้วิธีเดียวกัน ต่างกันที่ขนาดฝีเข็ม)

ด้นถอยหลัง หรือ Back Stitch เป็นการเย็บเดินหน้าและถอยหลัง วิธีนี้ได้ตะเข็บที่แข็งแรงทนทาน ได้ฝีเข็มใกล้เคียงการใช้จักรเย็บ

วิธีทำ สนเข็ม ทำปมด้าย เริ่มเย็บโดยแทงเข็มจากด้านหลังผ้าขึ้นมาด้านหน้า แทงเข็มย้อนไปทางขวาของจุดเริ่มต้น แทงเข็มไปข้างหน้า แล้วแทงกลับลงใกล้ๆ กับฝีเข็มที่เย็บไว้ก่อนหน้า  ทำซ้ำไปเรื่อยๆ จนสุดความยาว

slip-stitchสอย หรือ Slip Stitch เป็นวิธีเย็บที่ทำให้มองไม่เห็นฝีเข็มบนผ้า มักใช้เย็บผ้าที่ทบริมสองชิ้นเข้าด้วยกัน เช่น ช่องเปิดของหมอน หรือใช้เก็บริมชายกระโปรง ชายกางเกง ก็ได้

วิธีทำ สนเข็ม ทำปมด้าย เริ่มเย็บโดยแทงเข็มที่ด้านในสันทบผ้าข้างหนึ่งขึ้นมาด้านบน แทงเข็มลงที่สันทบอีกข้าง (ตรงกับแนวสันทบข้างแรก) สอดเข็มไปประมาณ 1-1.5 ซม.แล้วแทงเข็มขึ้น จากนั้นแทงเข็มกลับมาที่สันทบข้างที่เริ่มต้น ทำซ้ำไปเรื่อยๆ จนสุดความยาว
**ความถี่-ห่างของฝีเข็มขึ้นอยู่กับความต้องการ ถ้าถี่ก็จะแข็งแรงกว่าห่าง

blanket-stitchเย็บริมผ้าห่ม หรือ Blanket Stitch ส่วนใหญ่ใช้เก็บริมตะเข็บ เพื่อป้องกันผ้ารุ่ย หรือใช้ตกแต่งริมผ้าก็ได้ ถ้าเย็บฝีเข็มถี่มากๆ จะเรียกว่า ฝีเข็มถักรังดุม (Button hole Stitch) ใช้ซ่อมรังดุมได้

วิธีทำ สนเข็ม ทำปมด้าย เริ่มเย็บโดยแทงเข็มลึกจากริมผ้าเข้ามาประมาณ 5 มม. แทงเข็มถัดไป ให้ปลายเข็มเลยจากริมผ้า คล้องเส้นด้ายที่เข็มแล้วดึงเข็มขึ้น ทำซ้ำไปเรื่อยๆ จนสุดความยาว

herringbone-stitch01สอยก้างปลา หรือ Herringbone Stitch เป็นวิธียึดผ้าสองชิ้นไว้ด้วยกัน แต่ผ้าที่ยึดกันยังเคลื่อนไหวได้บ้าง ส่วนใหญ่ใช้สอยชายกระโปรง ชายเสื้อ ชายกางเกงที่ทำจากผ้ายืด บางครั้งก็ใช้ตรึงริมแผ่นซิปให้อยู่กับที่ เช่น การดัดแปลงเครื่องใช้ด้วยวิธีติดซิปเพิ่ม

วิธีทำ สนเข็ม ทำปมด้าย เย็บจากซ้ายไปขวา เริ่มจากแทงเข็มที่ด้านในผ้าที่พับขึ้น ห่างจากริมผ้าลงมาสัก 5 มม. แทงเข็มถัดไปทางขวาแบบย้อนกลับ (แทงแบบด้นถอยหลัง) เกี่ยวผ้าชิ้นล่างประมาณ 2-3 มม. เข็มถัดไปให้แทงเข็มย้อนกลับบนผ้าด้านที่พับขึ้น (อย่าแทงเข็มถึงผ้าชิ้นล่างสุด) ดึงเข็มขึ้น ทำซ้ำไปจนสุดความยาว   *ความกว้าง และความถี่ห่างของฝีเข็มขึ้นอยู่กับความชอบ แต่ควรสม่ำเสมอกัน ถ้าไม่แน่ใจ ให้ใช้ปากกาเขียนผ้าแบบลบได้ ขีดเส้นเป็นแนวไว้

blind-stitchสอยซ่อนด้าย หรือ Blind Stitch การเย็บที่มองเห็นฝีเข็มเล็กมากๆ ที่ด้านหนัา มักใช้เย็บชายกระโปรง ชายกางเกง ชายเสื้อ

วิธีทำ เย็บจากขวาไปซ้าย เริ่มจากแทงเข็มที่ด้านในสันทบ ดึงขึ้นแล้วเกี่ยวผ้าชิ้นล่าง ประมาณ 2-3 มม. แทงเข็มเข้าไปในสันทบสอดเข็มไปสัก 1-1.5 ซม. แทงขึ้นแล้วเกี่ยวผ้าชิ้นล่าง ทำซ้ำไปจนสุดความยาว คล้ายการสอยก้างปลา แต่แทงเข็มต่างกัน


เคล็ด (ไม่) ลับ

– เลือกขนาดเข็มให้เหมาะกับขนาดด้ายและความหนา-บางของผ้า
– เลือกสีด้ายให้เหมือนหรือใกล้เคียงกับเนื้อผ้า ในกรณีที่ต้องการตกแต่งให้โดดเด่น จะเลือกใช้ด้ายสีอ่อน เข้ม หรือขัดแย้งกับสีผ้าก็ได้   ในที่นี้ใช้ด้ายสีเแดงเพื่อให้เห็นได้ง่าย
– การเย็บทั่วไป ใช้ด้ายเส้นเดียว ในที่นี้ใช้ด้ายสองเส้น เพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น

sewingmania –เขียน

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เย็บผ้า ทีละขั้น sew step by step โดย อลิสัน สมิธ  แปลโดย พีรานุช เลิศวัฒนารักษ์และวัลภา ทองเนียม สำนักพิมพ์บ้านและสวน