คุณโพและคุณหนูดี กับการ ปลูกผักอินทรีย์ บนพื้นที่ที่เคยเป็นกองขยะ

สำรวจ แปลงผักสวนครัวของคุณหนูดี และคุณโพ ที่ ปลูกผักอินทรีย์ บนที่ดินข้างบ้านซึ่งเคยเต็มไปด้วยเศษซากกองขยะ และแปลงผักสวนครัวนี้ล้วนมาจากวัสดุเหลือใช้

หลายคนอาจจะพอทราบมาว่า คุณหนูดี- วนิษา เรซ ชื่นชอบการ ปลูกผักอินทรีย์ มานานถึง 8 ปี นอกเหนือจากหลายๆ บทบาทในสังคม ทั้งอาชีพนักเขียน นักคิด และคุณครู ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง ซึ่งการ ปลูกผักอินทรีย์ เป็นอีกหนึ่งตัวตนที่ทั้งคุณหนูดี และ คุณโพ – ดร.พสุธ รัตนบรรณางกูร ให้ความสำคัญมาก รวมถึงการคำนึงถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเธอบอกกับเราอย่างมั่นใจว่าให้คะแนนตัวเองในเรื่องการแยกขยะอาหารเต็ม 100 คะแนนเลยทีเดียว

ปลูกผักอินทรีย์ สวนครัวคุณหนูดี

เมื่อถามว่าสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องอย่างไรกับสวนครัวข้างบ้านที่ทั้งคู่ตั้งชื่อร่วมกันว่า From Farm to Fork-Bangkok แห่งนี้ เราได้รับเกียรติให้เข้าไปสัมผัสบรรยากาศของสวนผักส่วนตัวที่ใช้เวลารอให้พืชผักสมบูรณ์ตามช่วงฤดูยาวนานหลายเดือน และเรื่องราวอันลึกซึ้งของการปลูกผักทำสวนครัวแบบคนเมืองมานานถึง 9 ปี ที่ไม่ได้มีแค่มิติของอาหารที่ปลอดภัยเท่านั้น แต่ใจความสำคัญของฟาร์มแห่งนี้ยังเน้นเรื่อง Permaculture ทั้งความมั่นคงทางอาหาร การจัดสรรพื้นที่ และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

ปลูกผักอินทรีย์ ไม่ใช่แค่เทรนด์แต่นี่คือไลฟ์สไตล์

คุณโพพาเราย้อนเวลากลับไปเมื่อ 9 ปีก่อนจะ ปลูกผักอินทรีย์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เริ่มคบหาดูใจกับคุณหนูดี และสวนแห่งนี้ก็เกิดขึ้นเพราะเธอ

ปลูกผักอินทรีย์ สวนครัวคุณหนูดี

“เดิมทีที่ตรงนี้เป็นของเพื่อนบ้านครับ มีบ้านหลังสีเหลืองตรงนั้นด้วยเป็นบ้านที่เขาปล่อยเช่าเลยค่อนข้างโทรม จังหวะที่เขาต้องการขายผมซื้อไว้เพราะเห็นว่าเป็นที่ดินติดกับบ้านของเราเอง ตอนนั้นก็ยังไม่รู้ว่าจะใช้ทำอะไรเพราะสภาพทรุดโทรมมาก ใต้ถุนบ้านก็เป็นที่ทิ้งขยะที่ถูกยัดซุกไว้เป็นสิบๆ ปี ตอนรื้อใหม่ต้องใช้รถแบ็กโฮลมาขุดสามคันรถกว่าจะจัดการได้หมด แล้วถมดินใหม่ ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไร ช่วงนั้นผมเริ่มคบกับคุณหนูดี เธอบอกว่าอยากมีสวนผัก เราเลยลงมือทำสวนนี้ด้วยกัน

“ตอนแรกผมก็คิดนะว่าทำไปแล้วจะได้อะไร เพราะผมมองว่าในแต่ละวันเราก็ไม่ได้กินผักเยอะ ซื้อกินก็ได้ ถึงผมเองจะปลูกต้นไม้แต่ก็รู้ว่าการปลูกผักต้องคอยเอาใจใส่ดูแลค่อนข้างเยอะ แต่พอถึงจุดหนึ่งก็อยากจะลองดูสักตั้งไหนๆก็มีพื้นที่ตรงนี้อยู่แล้ว ซึ่งเราก็ต้องคอยดูแลใส่ใจจริงๆ แต่หลังจากที่ปลูกมาเราเริ่มรู้สึกว่านี่คือไลฟ์สไตล์ของเราไปแล้ว

“มันเป็นไลฟ์สไตล์ของเรา ไม่ต่างกับที่คนอื่นๆ ชอบไปคาเฟ่ ชอบถ่ายรูป หรือชอบสะสมนาฬิกา การปลูกผักนั้นตรงกับไลฟ์สไตล์ของเราทั้งคู่ ผมเองก็ชอบปลูกต้นไม้ หนูดีชอบสวนผัก เลยน่าจะเป็นเรื่องดีๆ ที่คนสองคนได้ทำสิ่งที่ชอบจริงๆ แม้เราจะไม่มีความรู้เบื้องต้นใดๆ บวกกับเมื่อก่อนก็ไม่มีข้อมูลการทำสวนครัวแพร่หลายเหมือนอย่างทุกวันนี้ การจะหาความรู้เรื่องการปลูกจึงเป็นเรื่องยากมาก เรียกว่าเราล้มลุกคลุกคลานกันมาพอสมควรครับ”

ปลูกผักอินทรีย์ สวนครัวคุณหนูดี

เริ่มต้นจากการเรียนรู้และลงมือทำจริง

“พี่โพบ่นด้วยว่าไม่ช่วยทำสวน (หัวเราะ) แต่หนูดีก็ช่วยบ้างนะ เราอยากกินผักที่ปลอดภัยแต่ก็อยากมีเล็บมือสวยๆ ด้วย เลยตกลงกันว่าหนูดีชอบทำอาหารจะทำอาหารจากสวน ส่วนพี่โพชอบปลูกต้นไม้ก็เป็นคนทำสวนอะไรประมาณนี้ ที่นี่จึงได้ชื่อว่า From Farm to Fork” พี่โพคือฝ่ายฟาร์ม หนูดีคือฝ่ายฟอร์ก (ส้อมจิ้มอาหาร)

“ตอนแรกเราคิดว่าการปลูกผักคือไปซื้อแบบดินถุงมาก็ปลูกได้เลย ลงเป็นร้อยถุงเลยครับ ตอนหลังถึงรู้ว่าปลูกไปสักพักพวกอินทรีย์วัตถุที่มากับดินถุงหายไปหมดเหลือแต่ดินเหนียวที่ผสมมา ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น เราจึงเริ่มมาศึกษาเรื่องการหมักปุ๋ย ไปเรียนรู้การทำเกษตรกับพี่โจน จันได ศึกษาจากอินเทอร์เน็ตว่าต่างประเทศเขาทำกันอย่างไร”คุณโพกล่าว

คุณหนูดีเล่าเสริมถึงจุดเริ่มต้นที่ได้รู้จักกับปราชญ์ด้านการทำเกษตรพึ่งพาตนเอง ซึ่งเธอได้พานักเรียนประถมที่โรงเรียนของเธอเข้าไปเรียนรู้การปลูกผัก การเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน การพึ่งพาตนเอง จนพาเธอไปพบกับอีกมุมหนึ่งของชีวิต

“เราลองปลูกหลายอย่างมาก ได้บ้าง ไม่ได้บ้างเพราะว่าบางชนิดก็ไม่เหมาะถึงแม้ว่าอากาศจะร้อนเหมือนไทย แต่เป็นร้อนแห้งไม่ใช่ร้อนชื้น ตอนนั้นหนูดีน่าจะเป็นคนแรกๆในไทยที่ปลูกเคลเพราะมีข้อมูลบอกว่าเป็นพืชที่ทนมาก ทนหนาวทนร้อนได้ เลยลองปลูกดู โอ้โห!มันเหมือนซอมบี้มาก ทนหิมะในเมืองนอกได้ มาเจออากาศกรุงเทพฯ 40 กว่าองศาเซลเซียสมันก็ทนได้ เป็นพืชชนิดเดียวที่ไม่ตายในหน้าร้อน กทม. แถมอายุยืนเป็นปีอีกด้วย”

ปลูกผักอินทรีย์ สวนครัวคุณหนูดี

เมื่อความสนใจในการปลูกผักมีมากขึ้น หลังจากนั้นทั้งคู่เริ่มจริงจังกับการเรียนรู้และลงมือทำผ่านแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ทั้งสวนผักบ้านคุณตา สวนผักดาดฟ้าหลักสี่ และเฟซบุ๊ก ธรรมธุรกิจ ที่ต้องไปเรียนที่ ฐานธรรมสันป่าตอง จ.เชียงใหม่หลายวัน ทำให้ทั้งคู่ได้รู้ว่าการหมักดินก่อนปลูกเป็นเรื่องสำคัญมาก

“เราไปเรียนกับพี่โจน จันไดค่ะ ตั้งแต่การทำบ้านดิน ทำน้ำหมักรสจืด หมักจุลินทรีย์ ให้อาหารผักที่เขาเรียกว่า “ห่มดิน แห้งชาม น้ำชาม’ แล้วมีโอกาสได้ไปดูงานที่มูลนิธิฉือจี้ที่ไต้หวัน เห็นการจัดการขยะของภิกษุณี บวกกับชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับ Permaculture ด้วย เราจึงตั้งใจใช้ทุกอย่างในสวนนี้ให้คุ้มค่ามากที่สุด”

ideas

สวนครัวที่เกิดจากขยะวัสดุเหลือใช้

“พอเราเริ่มจริงจังหนูดีก็คุยกับพี่โพว่าทั้งหมดนี้ที่สำคัญที่สุด คือเรื่องการให้เกียรติทรัพยากรธรรมชาติ เราทำลายโลกกันไปเยอะโดยที่ไม่รู้ตัว สวนครัวของเราจึงควรใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด หนูดีถามคนรอบข้างเลยค่ะ ใครมีอะไรเหลือใช้บ้าง เศษไม้ หรือ พื้นที่เลาะทิ้ง เอามาบริจาคให้เราเพื่อประกอบร่างแล้วทำสวนใหม่อีกครั้ง อย่างแผ่นทางเดิน Interlocking Bricks ก็มาจากบ้านคุณพ่อพี่โพ หลังคาโต๊ะเพาะกล้าเรารื้อมาจากหลังคาโรงจอดรถ ไม้พาเล็ตจากลังบรรจุของนำเข้าแปลงเป็นโต๊ะปลูก เราภูมิใจว่าไม่ต้องซื้ออุปกรณ์ทั้งหมด แต่บางอย่างก็ต้องซื้อเพราะไม่มีใครให้มา เช่นอิฐประสานที่ใช้ทำแปลงปลูกและโครงเหล็กโต๊ะปลูกค่ะ”

การใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าไม่ใช่แค่วัสดุที่เหลือใช้เท่านั้น แต่สิ่งที่ซื้อใหม่จะต้องคุ้มกับการใช้เงินด้วย ซึ่งสิ่งที่มีราคาสูงที่สุดในสวนคือเครื่องบดใบไม้ราคา 30,000 บาท แต่เมื่อเทียบมูลค่าการกำจัดเศษกิ่งไม้ใบไม้ที่ต้องจ้างขนทิ้งเที่ยวละ 3,000 บาท จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาวทั้งยังใช้ประโยชน์จากใบไม้เหล่านั้นมาทำปุ๋ยหมักใช้ในสวนได้ด้วย

ดินโอชะและปุ๋ยหมักทำเองจากเศษใบไม้และขยะอาหาร

“เมื่อเริ่มจริงจังกับการปลูกผัก ปริมาณใบไม้และเศษอาหารเพื่อหมักปุ๋ยก็ไม่เพียงพอ เราพยายามขอวัตถุดิบจากเพื่อนบ้านบ้าง ใครตัดกิ่งไม้ ใครมีเศษใบไม้ ขอมาทำปุ๋ยนะ พอดีบ้านตรงข้ามเขาก็ตัดแต่งกิ่งไม้ค่อนข้างบ่อยเราก็เอากระสอบไปให้เขาทีละ 10 กระสอบเขาก็จะเอากิ่งไม้ใส่กระสอบแล้วมาวางให้หน้าบ้านเรา แล้วเราก็ตัดผักของเราไปฝากเขาบ้างก็น่ารักดี เหมือนย้อนเวลากลับไปสมัยก่อนที่เราได้ใกล้ชิดกับเพื่อนบ้านมากกว่าแค่บ้านติดกัน”

การทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร เริ่มแรกทำในวงบ่อซีเมนต์แต่ไม่ได้ผลเพราะอากาศไม่ผ่าน จนในที่สุดคุณโพก็ค้นพบวิธีทำวงบ่อให้มีอากาศถ่ายเทโดยใช้ไม้ไผ่ตีเป็นวงกลม ล้อมด้วยตาข่ายพลาสติก ทำช่องเปิดด้านล่างโดยวางก้อนอิฐเป็นฐาน ให้วัสดุสัมผัสกับดินโดยตรงเพื่อใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์และใส้เดือนธรรมชาติ หากจะตักปุ๋ยแค่หยิบก้อนอิฐออกจะกลายเป็นช่องเปิดให้ตักปุ๋ยได้ง่ายขึ้น ในบ่อปุ๋ยหมักจะใส่ของสดที่เป็นเศษอาหาร ของแห้งพวกใบไม้แห้ง เศษกระดาษ เรียงเป็นชั้นๆ เมื่อเริ่มย่อยสลายไส้เดือนที่อาศัยตามธรรมชาติจะมาช่วยอีกทาง ทำให้ได้ปุ๋ยมูลไส้เดือนไว้ใช้ด้วย ซึ่งทั้งหมดลงทุนเพียง 200 บาทเท่านั้น

“ตั้งแต่เราเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรของโลก ประหยัดการใช้ทรัพยากรให้มากที่สุด คำว่าสวยของเราเปลี่ยนไปเยอะมากค่ะ เมื่อก่อนต้องจัดให้สวยเป๊ะๆ เนี้ยบๆ ตอนนี้คือออกแนวรัสติก แนวไม่เข้ากันแต่ดูแล้วเข้ากัน แล้วให้สีเขียวๆ ของผักกับสารพัดสีของดอกไม้เป็นตัวประสาน เวลามองสวนเราก็ภูมิใจในทุกมุมเลย ไม่ได้จ้างช่างมาออกแบบให้ แต่เราทำเองจากของเหลือที่มีคนกรุณายกให้เรา มันมีค่าต่อใจเรามากจริงๆ”คุณหนูดีกล่าว

“เรายังได้เรียนรู้ว่าเงินไม่ได้แก้ปัญหาได้เสมอไปครับ บางครั้งเราต้องใส่ใจ ใส่สมองแล้วใช้เงินแค่เท่าที่จำเป็น” คุณโพกล่าวย้ำ

Permaculture ในแบบฉบับที่เหมาะกับเรา

ด้วยทุนเดิมที่เป็นคนใฝ่เรียนรู้ การศึกษาเรื่องทำฟาร์มตามหลัก Permaculture ของทั้งคู่ขยายวงกว้าง ทั้งการอ่าน ศึกษาจากช่องยูทูป และลงมือทำในพื้นที่สวนของตัวเอง

“การทำเกษตรแบบ Permaculture จะเน้นการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เราแชร์ผักกับหนอนแมลงเพราะเราเชื่อว่าถ้าเราเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่ได้กินผักในสวนของเรา แปลว่าเราไม่ใช่ส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ที่ดี เราไม่ประกาศศัตรูกับธรรมชาติ เราให้ธรรมชาติควบคุมกันเอง เรียนรู้จักแมลงตัวห้ำตัวเบียนและเป็นเพื่อนกับเขา ส่วนตัวบ้านเราวางตำแหน่งบ้านเป็นที่ตั้งแล้วให้แปลงผักอยู่ใกล้บ้านที่สุดเพราะต้องดูแลใกล้ชิดและกินบ่อย กองปุ๋ยหมักอยู่ใกล้ครัวเพื่อให้สะดวกในการออกมาเทขยะอาหาร ส่วนผักที่ต้องการการดูแลน้อย อย่างพวกผักอายุยืน เช่น ต้นผักหวาน ชะอม ผักชายา มะรุม ก็อยู่ห่างออกไป”

คุณโพเล่าถึงอีกหนึ่งวิธีทดลองปลูกของเขาคือการทำฟาร์มแบบไม่ไถพรวน หรือที่เรียกว่า No-dig Gardening เป็นแนวทางที่นิยมในต่างประเทศ เป็นแนวคิดที่เชื่อว่าป่าในธรรมชาติไม่ต้องไถพรวนต้นไม้ก็สวยงามเติบโตได้ ใบไม้ตกลงมาทับถมดินแล้วดินป่าคือไอดอลแห่งดินทั้งมวล แล้วทำไมปลูกผักถึงต้องพรวนดิน จึงได้มีกระแสนี้ออกมา เขาทดลองมา 2-3 ปี พบว่าเป็นวิธีที่ลดแรงงานได้เยอะมาก ไม่เสียเวลามานั่งฟันจอบขุดดินมากเหมือนเดิม หากปลูกในสเกลเล็กรับประทานเองในครอบครัว ก็ให้ผลผลิตในเกณฑ์ดีเลยทีเดียว

ปลูกผักอินทรีย์ สวนครัวคุณหนูดี
ผักกาดหอมอิตาลีที่ปลูกในดินหมักเอง

ปลูกผักอินทรีย์ ที่ชอบกินดีกว่าผักที่ชอบดู

ทั้งคู่เล่าเรื่องผักหลากหลายชนิดที่ผ่านการทดลองปลูกในสวนแห่งนี้อย่างสนุก ทั้งผักแปลกๆ ที่ทำให้เกิดความสนุกในช่วงทดลองปลูก ไปจนถึงต้นไม้หน้าตาแปลกที่กำลังเจริญเติบโตให้เห็นอย่างเบาบับ โกโก้ แบล็กเบอร์รี่ ราสป์เบอร์รี่แต่ท้ายที่สุดการปลูกผักที่ชอบกินก็เป็นหัวใจของสวนผักแห่งนี้

“ในที่สุดเราก็กลับมากินที่ปลูกปลูกที่กินค่ะ เพราะพื้นที่เราอาจไม่ได้เยอะถึงขนาดปลูกเป็นจริงเป็นจังได้เราก็เลยเลือกปลูกแต่ผักที่เราคิดว่ากินทุกวัน

“ก่อนหน้านี้เราก็ปลูกราสป์เบอร์รี่ ได้เก็บผลด้วยนะคะ แต่ตอนนี้ตายไปแล้วเพราะว่าพี่โพรักมาก โด๊ปปุ๋ยเยอะเลยเผาไหม้ตาย (หัวเราะ) แล้วก็มีแบล็กเบอร์รี่เราเรียนรู้การปลูกพวกเบอร์รี่ในกรุงเทพฯค่ะ ถ้าปลูกในสวนขนาดเล็กต้องเป็นพันธุ์ที่ไม่มีหนาม ก็จะออกผลดกมาก ออกจริงจัง อร่อย รสชาติดีด้วยค่ะ”

“ในช่วงฤดูร้อนเราจะปลูกถั่วฝักยาวตรงแนวรั้วครับ เพราะว่าแสงเข้ามาทางนี้มีค้างให้ต้นเลื้อยไปตามแนวได้ แต่อีกฝั่งที่แสงส่องถึงน้อยจะหงอยๆหน่อย เพราะมีบ้านบังอยู่แต่ถึงฤดูฝนก็ต้องเปลี่ยนตำแหน่งปลูกถั่วตามทิศแสงที่เปลี่ยนครับ เราก็ต้องย้ายเขาไปเรื่อยๆ ดูแสงดูน้ำให้เพียงพอ”

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการเลือกใช้เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านให้มากที่สุด ทั้งสั่งจากสวนของคุณโจน จันได ในเพจ punpun organic farm และเฟซบุ๊กสวนแทนใจไร่ดอกเหงื่อ ซึ่งจะได้เมล็ดพันธุ์ที่แข็งแรง เก็บเมล็ดปลูกต่อได้ไม่กลายพันธุ์และยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรท้องถิ่นอีกด้วย

นอกจากพืชผักตามฤดูกาลแล้วในสวนยังมีมุมดอกไม้เล็กๆ ที่ปลูกกุหลาบ บานชื่นหลากสี เก๊กฮวย ทานตะวัน ราชาวดี จิงจูฉ่าย และยังมีต้นโปร่งฟ้าที่ใบให้รสชาติเหมือนลูกอมแฮ็คส์ สำหรับใช้ใบทำชาโปร่งฟ้า ก็ปลูกอยู่ในสวนอีกฝั่งของบ้านด้วย

ความพึงพอใจ สิ่งพิเศษที่ได้จาก From Farm to Fork

“พอถึงจุดหนึ่งไลฟ์สไตล์ที่เคยทำมามันไม่อบอุ่นในความรู้สึกของหนูดี มันไม่มีอะไรให้จับต้องได้จริงๆ แค่ทำงานแล้วก็ได้เงิน แต่นอกจากทำงานแล้วเราทำอะไรที่ใช้ในชีวิตประจำวันไม่เป็นเลย ทั้งปลูกอาหาร ตัดเย็บ ก่อสร้าง เราก็เลยรู้สึกว่าการปลูกอาหาร คือไลฟ์สไตล์ของคนที่ชอบทำอะไรให้เกิดขึ้นด้วยมือตัวเอง ชีวิตต้องมีอีกมิติหนึ่งที่ไม่ใช่อาชีพที่หาเงินเท่านั้น ต้องมีสิ่งที่เป็นรางวัลชีวิตของคนทำงานที่ไม่ได้ชอบไปห้างสรรพสินค้า ไปช้อปปิ้ง ดังนั้น  From Farm to Forkเลยเป็นวิธีการที่เราพักผ่อนหย่อนใจ ถ้าปลูกแล้วได้กินก็ถือว่าเป็นกำไรชีวิต”คุณหนูดีกล่าว

ไม่เพียงแค่ความสุขทางใจและความสบายกายที่ได้จากอาหารที่ปลอดภัยเท่านั้น สวนครัวของทั้งคู่ยังเป็นอีกหนึ่งวิธีรักษ์โลกที่เกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงอีกด้วย

“ขยะเศษอาหารที่เรากินเหลือทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ เรานำไปทำดินหมดเลยค่ะ หากจัดการจากบ้านแล้วเราจะช่วยลดขยะฝังกลบได้ตั้งแต่ 60-90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเยอะมาก ขยะฝังกลบนี่ปล่อยคาร์บอน ทำลายดิน ปล่อยพิษลงน้ำซับใต้ดิน และยังกินพื้นที่เมืองด้วย ยิ่งช่วยลดเรายิ่งช่วยโลก หนูดีมองว่ามัน Amazing มากที่เราทำตรงนี้ได้ รวมทั้งส่วนอื่นๆ อย่างการกินแพลนต์เบสต์ ที่ถึงแม้เราไม่ได้ทำสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การเพิ่มพืชในแต่ละมื้อ จะช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าเพราะอุตสาหกรรมปศุสัตว์คือสาเหตุหลักของการโค่นป่ามาปลูกข้าวโพดป้อนหมู ไก่ วัวฟาร์ม แล้วก็เผาซังจนเกิด PM 2.5แถมเมื่อเก็บจากสวนผักของเราเท่ากับว่าผักนั้นไม่ต้องใส่ถุงพลาสติก ไม่ต้องแช่รถตู้เย็น ไม่ต้องขนส่งโดยรถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ลดคาร์บอนฟุตปริ้นต์ เราจึงมองว่าสวนนี้มีมากกว่าอาหาร มีมากกว่าความสวยงาม มันฮีลใจเรา และฮีลโลกใบนี้ไปพร้อมๆ กัน”

“ส่วนผมก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากการปลูกผัก เราเห็นอนิจจังในทุกสิ่งวันหนึ่งเราเห็นผักเราสวยฟู ดอกไม้สวยงามเหมือนสวรรค์เลยแต่พออีกเดือนหนึ่งต่อมาฝนตกกลับกลายเป็นเน่า เราเรียนรู้ที่จะไม่ยึดติด เราชื่นชมในความสวยงามแต่เราก็ยังรำลึกว่าสิ่งนี้ไม่ยั่งยืน เหมือนหลักปรัชญานาโงมิ ที่สอนว่าทุกสิ่งในโลกไม่จีรัง วันหนึ่งมันก็จะจากไป เราจึงรู้สึกว่าสิ่งที่เราเห็นอยู่ตรงหน้ามีคุณค่า เพราะแม้เวลาจะแสนสั้นแต่มันก็แสนสวยงาม

“และถึงเราจะไม่สามารถปลูกทุกอย่างเองได้ ไม่สามารถสร้างทุกอย่างมากับมือเองได้เรายังต้องซื้ออยู่แต่เราพยายามซื้อให้น้อยที่สุดแล้วเราก็พยายามโหวตด้วยเงินของเรา สินค้าไหนที่เราอยากจะให้มีอยู่ต่อเราจะสนับสนุนสิ่งนั้น เป็นการทำในสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับอนาคต” คุณโพกล่าว

คุณหนูดีกล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจด้วยประโยคของ Anna Lappé นักเขียนชาวอเมริกันผู้สนับสนุนแนวทางการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน ซึ่งบอกไว้ว่า“Every time you spend money, you are casting a vote for the kind of world you want.” เน้นย้ำถึงแนวคิดการใช้ทุกอย่างให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า แม้กระทั่งการใช้เงินของเราเพื่อสิ่งที่ควรค่าที่สุดอีกด้วย

ติดตามเรื่องราวของคุณหนูดีและคุณโพได้จากหนังสือ Farm House สวนเกษตรในบ้าน

เรื่อง JOMM YB

ภาพ ศุภกร ศรีสกุล

แปลงผักบนดาดฟ้า ของครูสอนโยคะที่อยากกำจัดขยะอาหาร

สวนเกษตรในบ้าน ที่มี ไก่ เป็ด ห่าน กระต่าย เด็ก อยู่ร่วมกัน