วิธี ” การปักชำ ” ต้นไม้สามารถทำได้กับต้นไม้หลายชนิด บางชนิดเหมาะสำหรับเพาะเมล็ด บางอย่างสามารถแยกกอ นำหัวไหล หรือรากสะสมอาหารใต้ดินออกมาปลูก บางชนิดก็เหมาะสำหรับตอนกิ่ง รวมถึงการปักชำต้นไม้
เราเลือกวิธี การปักชำ ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ ในการเพิ่มจำนวนต้นไม้ โดยมีคำแนะนำดีๆ จากคนใกล้ตัว คุณอุไร จิรมงคลการบรรณาธิการหนังสือเล่ม สำนักพิมพ์บ้านและสวน ซึ่งนอกจากจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับพรรณไม้ไว้มากมายแล้ว ยังเป็นนักสะสมต้นไม้ตัวยง ใครเคยลองปักชำแล้วไม่ได้ผล ต้องลองอ่านดู รับรองว่า ต่อไปนี้จะปลูกต้นอะไรก็ง่ายนิดเดียว
ปักชำต้นไม้คืออะไร
การปักชำคือ การนำส่วนต่างๆ ของพืช ได้แก่ กิ่ง ใบ รากมาปลูกในสภาพที่เหมาะสม เพื่อให้ชิ้นส่วนนั้นเกิดรากและแตกต้นใหม่ขึ้นมาแต่ที่นิยมและพบเห็นได้ทั่วไปคือการนำกิ่งหรือท่อนพันธุ์มาปักชำ เพราะเป็นวิธีที่ง่ายและได้ต้นใหม่จำนวนมากๆ ในคราวเดียวกัน
การปักชำให้ได้ผลดีขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความยากง่ายในการออกรากของกิ่งหรือท่อนพันธุ์นั้นๆ ช่วงเวลาในการปักชำ เช่น ปักชำในเวลาเช้าหรือเย็นจะช่วยลดปัญหาการคายน้ำได้ ความอ่อนแก่ของกิ่งพันธุ์ สภาพแวดล้อมทั้งเรื่องของความชื้นและแสง ชนิดของกิ่งที่นำมาปักชำ เช่น ถ้าเป็นกิ่งที่มีดอกและผลติดอยู่ จะออกรากยากกว่ากิ่งที่มีแต่ใบเพียงอย่างเดียวเนื่องจากอาหารสะสมส่วนหนึ่งถูกใช้ไปกับการออกดอกและผลแล้วนั่นเอง
ต้นอะไรปักชำได้บ้าง
ไม้ประดับส่วนใหญ่สามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีปักชำได้เกือบทั้งสิ้น ที่นิยมได้แก่ ไฮเดรนเยีย โกสน เล็บมือนาง เทียนทองมะลิ โมก ชบา พู่เรือหงส์ เปเปอโรเมีย ไผ่ฟิลิปปินส์ด่างพุดพิชญา เล็บครุฑ โฮย่า ลั่นทม ใบเงิน ใบทอง ใบนากฯลฯ ข้อดีของการปักชำก็คือ ได้พืชต้นใหม่ที่ตรงตามพันธุ์เดิมไม่ค่อยมีการกลายพันธุ์ และยังเหมาะกับต้นไม้ที่ไม่ติดเมล็ดหรือติดเมล็ดยาก เช่น เข็ม ชบา มะลิ แต่ก็มีข้อเสียด้วยเช่นกันคือ พืชที่ได้จากการปักชำจะไม่มีรากแก้ว จึงมีโอกาสโค่นล้มได้ง่าย โดยเฉพาะกรณีที่เป็นต้นไม้ใหญ่
วิธีเลือกและเตรียมกิ่งปักชำ
ควรเลือกกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน ลักษณะของกิ่งชนิดนี้ให้สังเกตว่ามีเปลือกสีน้ำตาลปนเขียว (กิ่งอ่อนเกินไปมักจะเน่าง่าย ส่วนกิ่งแก่เกินไปก็จะออกรากยาก)
1. ตัดกิ่งให้มีความยาวประมาณ 3 – 6 นิ้ว โดยตัดใต้ข้อ เพราะบริเวณนั้นจะมีอาหารสะสมและมีฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นให้แตกตาใหม่ ตัดเฉียงประมาณ 45 องศา(เพื่อเพิ่มพื้นที่การแตกรากได้มากขึ้น)
2. ควรตัดให้มีใบติดอยู่ ถ้าใบมีขนาดใหญ่หรือจำนวนมากเกินไป ลิดใบออกให้เหลือครึ่งหนึ่ง หรือเหลือใบที่ปลายยอดสัก 3 – 4 ใบ จากนั้นตัดใบออก หรือ ของใบ และลิดใบล่างออกให้หมด เพื่อลดการคายน้ำ
3. โดยปกติรากของกิ่งชำจะออกตามบาดแผล แต่หากต้นไม้ที่ต้องการปักชำเป็นไม้ที่เนื้อค่อนข้างแข็ง(สังเกตว่าสามารถลอกเปลือกได้)ให้กรีดเป็นรอยแผลตรงๆ ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร 3 – 4 รอย เพื่อเพิ่มพื้นที่การแตกรากให้มากขึ้น หรือหากพืชชนิดนั้นออกรากยาก ควรนำไปจุ่มฮอร์โมนเร่งราก(โดยใช้ในอัตราตามที่ระบุในฉลาก)หรือใช้สารป้องกันเชื้อราร่วมด้วย
4. ปักชำลงในวัสดุลึกประมาณ ของความยาวกิ่งวัสดุปักชำที่นิยมใช้ ได้แก่ ขี้เถ้า แกลบ (ควรแช่น้ำก่อนประมาณ 3 วัน เพื่อลดความเป็นด่างยกเว้นขี้เถ้าแกลบที่เก่าแล้ว) ข้อดีคือมีความร่วนซุยสูง พืชจึงแตกรากได้ดีทั้งยังไม่เกาะตัวกับรากต้นไม้ จึงทำให้ย้ายปลูกง่ายโดยที่รากไม่ขาด หากไม่มีอาจใช้ดินร่วนทั่วไปผสมกับขุยมะพร้าว และทรายหยาบ อัตราส่วน 1 : 1 : 1 หลังปักชำเสร็จแล้วควรรดน้ำตามทันทีซึ่งอาจใช้สารป้องกันเชื้อรารดในขั้นตอนนี้ก็ได้เช่นกัน
5. กรณีที่ ปักชำ ปริมาณมากๆ ควรคลุมกระบะเพาะชำด้วยพลาสติกใส เพื่อเก็บรักษาความชื้น ขณะเดียวกัน ยังให้แสงส่องผ่านลงไปได้ แต่กรณีที่มีจำนวนไม่มากนัก สามารถนำใส่ถุงพลาสติก หรือใช้ขวดพลาสติก ครอบแก้วทรงระฆังครอบเพื่อควบคุมไม่ให้ความชื้นออกมาจนกว่าจะแตกใบใหม่
6. หากปักชำใส่กระบะหรือกระถางที่เคลื่อนย้ายง่าย ควรนำไปวางในบริเวณที่มีแสงส่องถึงเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโต โดยที่สภาพอากาศบริเวณนั้นควรได้รับความชื้นและอุณหภูมิเหมาะสม วิธีวัดคือ ให้ลองลงนั่งดูถ้ารู้สึกว่าเย็นสบาย ตรงนั้นคือที่ที่เหมาะสำหรับวางต้นไม้ปักชำ หรือวางบนพื้นอิฐมอญเย็นๆ ชื้นๆ ก็ได้
Tips
พืชที่มีใบบางหรือไม้อวบน้ำบางชนิดไม่จำเป็นต้องเด็ดใบออก เช่น พวงแสด ฤๅษีผสม กุหลาบหิน
พืชที่มียาง เช่น ลั่นทม โป๊ยเซียน ไม่ควรตัดแล้วนำมาปักชำทันที เพราะมีโอกาสเน่าง่าย หลังจากตัดกิ่งแล้วควรวางผึ่งลมในที่ร่มให้ยางแห้งและแผลปิดก่อนประมาณ 3 – 5 วัน จึงนำไปปักชำ
เราสามารถดัดแปลงตู้ปลาใบเก่าให้เป็นโรงเรือนเพาะชำขนาดย่อมได้ โดยวางต้นไม้ในตู้ปลาหล่อน้ำที่ด้านล่างเล็กน้อยและปิดตู้ทับอีกชั้น
บางครั้งอาจมีกรณีปักชำไปแล้วแตกใบใหม่ แต่ยังออกรากไม่ได้ เช่น กุหลาบ เพราะต้นไม้ยังใช้อาหารสะสมจากกิ่งอยู่ ดังนั้นอาจลองดึงโคนต้นเบาๆหากมีแรงตึงมือแปลว่าต้นไม้เริ่มแตกรากแล้ว
ปักชำใบ ปักชำราก
นอกจากการปักชำกิ่งซึ่งเป็นที่นิยมและทำได้ง่ายที่สุดแล้ว เรายังสามารถนำชิ้นส่วนอื่น เช่น ใบและราก มาปักชำได้เช่นกัน พืชที่ใช้ใบปักชำได้มักมีใบอวบหนา ผิวใบเป็นมัน ลักษณะการตัดชำใบมักขึ้นอยู่กับรูปร่างลักษณะของใบชนิดนั้นๆ เช่น ลิ้นมังกร ให้ตัดใบตามยาวเป็นชิ้นสั้นๆ ประมาณ 2 – 3 นิ้ว
ส่วนพืชที่มีแผ่นใบกว้าง เช่น บีโกเนีย ใช้วิธีตัดใบเป็นส่วนๆโดยมีเส้นใบติดมาด้วย พืชต้นใหม่จะเกิดบริเวณรอยตัดนั้น
สำหรับพืชที่มีก้านใบยาว ควรตัดชำใบให้มีก้านติด เช่นแอฟริกันไวโอเลต และยังมีพืชบางชนิดที่ออกรากได้บริเวณขอบใบเช่น คว่ำตายหงายเป็น เพียงแค่จัดวางใบแก่ลงบนวัสดุที่มีความชื้นระยะหนึ่งก็จะแตกรากและเกิดต้นใหม่ได้
ส่วนการปักชำราก พืชที่สามารถตัดชำราก ได้แก่ แคแสดสาเก ทับทิม มะไฟ ฝรั่ง โดยตัดรากขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 – 2 เซนติเมตรเป็นท่อนๆ นำมาปักชำลงในวัสดุปลูกลักษณะตั้งตรงหรือวางนอนก็ได้
นอกจากนี้ที่พบเห็นบ่อยๆ คือ ปีบ รากแขนงที่อยู่ใกล้ผิวดินจะแตกออกมาเป็นพืชต้นใหม่ขนาดเล็กมากมาย เราสามารถตัดเป็นท่อนๆ และนำไปปลูกได้เช่นกัน
ถึงเวลาต้องย้ายปลูก
หลังจากปักชำไปแล้วสักพักจะรู้ได้อย่างไรว่าย้ายพืชไปปลูกได้ข้อสังเกตง่ายๆ คือ หากปักชำลงแก้วหรือถุงพลาสติกใสจะเห็นรากลงมาถึงก้นแก้ว หรือสังเกตว่ามีใบแตกออกมาจำนวนมาก อย่างไรก็ตามไม่ควรย้ายต้นไม้ออกมาทันที ให้ค่อยๆ เผยอที่ครอบทีละนิดเพื่อให้ต้นไม้ปรับตัว จากนั้นจึงย้ายปลูกในแปลงหรือกระถางตามต้องการ
ข้อควรระวังคือ ช่วงที่แตกใบใหม่ๆ ไม่ควรรดน้ำมากเกินไป เพราะอาจทำให้รากเน่าได้
Tip
ไม้เนื้ออ่อนบางชนิดสามารถตัดกิ่งออกมาปักชำลงในน้ำได้ เช่นฤๅษีผสม เล็บครุฑ ไผ่ฟิลิปปินส์ อาจลองดัดแปลงเทคนิคนี้มาจัดเป็นแจกันต้นไม้แบบมีชีวิตก็ได้ ใช้ตั้งประดับในบ้านได้นานนับเดือนพอเบื่อแล้วค่อยย้ายปลูกลงดินต่อไป
เรื่อง : วรัปศร
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
“ต้นไม้ปักชำน้ำ” เพื่อให้ส่วนต่าง ๆ ของพืชเกิดรากใหม่