ปุ๋ยควบคุมการปลดปล่อย หรือ ปุ๋ยละลายช้า เลือกอย่างไร

สำหรับมือใหม่หัดปลูกอาจจะยังมีคำถามเรื่องการเลือกปุ๋ย หรือใส่ปุ๋ยให้พืชที่ปลูก เพราะหากมือหนักใส่ปุ๋ยให้พืชมากไปจะเป็นการสร้างปัญหาทำให้พืชช็อกหรือใบไหม้หลังใส่ปุ๋ยได้ แต่หากเลือกใช้ ปุ๋ยละลายช้า หรือ ปุ๋ยควบคุมการปลดปล่อย จะไม่เกิดปัญหานี้ขึ้นแน่นอน  

ปุ๋ยควบคุมการปลดปล่อย, ปุ๋ยละลายช้า , ปุ๋ย 3 เดือน เป็นชื่อเรียกอันเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักปลูก โดยเฉพาะนักเล่นไม้สะสมที่มูลค่า ไม้ประกวด พืชที่ต้องการการดูแลให้สวยงาม มักจะเลือกใช้ปุ๋ยประเภทนี้ เพราะเป็นปุ๋ยที่ปลอดภัยต่อระบบรากพืช ด้วยการทำงานที่ค่อยๆ ปลอดปล่อยธาตุอาหารของพืช (NPK) อย่างช้าๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ใช้ได้ทั้งผสมในเครื่องปลูก รองก้นหลุม และโรยหน้าดิน

ปุ๋ยมีแบบไหนบ้าง??

ปุ๋ยละลายเร็ว เป็นปุ๋ยเคมีที่ละลายน้ำได้ดี พืชสามารถดูดใช้ได้ทันทีเมื่อใส่ลงดินหรือเมื่อละลายน้ำแล้วฉีดพ่นทางใบ ได้แก่ ปุ๋ยยูเรีย ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต และปุ๋ยผสมสูตรต่าง ๆ ที่ใช้เป็นปุ๋ยทางใบ เช่น ปุ๋ยสูตร 12-60-0, 10-50-10 และ 10-20-30 เป็นต้น

ปุ๋ยกึ่งละลายช้าละลายเร็ว เป็นปุ๋ยเคมีที่มีส่วนประกอบบางส่วนละลายน้ำได้ดี และบางส่วนไม่ละลายน้ำ เช่น ปุ๋ย PAPR ซึ่งมีส่วนผสมของฟอสฟอรัสในรูปและสัดส่วนต่าง ๆ

ปุ๋ยควบคุมการปลดปล่อย หรือปุ๋ยสูตร 3 เดือน เป็นปุ๋ยเคมีที่มีการเคลือบเม็ดปุ๋ยด้วยสารเคลือบที่ไม่ละลายน้ำ แต่เมื่อมีน้ำผ่านเข้าไปจะทำให้สารเคลือบมีการยืดหยุ่นหรืออ่อนตัวลง และการปลดปล่อยของปุ๋ยจะทำงานผ่านชั้นเคลือบอย่างคงที่ต่อเนื่องและสม่ำเสมอ  

ปุ๋ยละลายช้า ยี่ห้อไหนดี

ปุ๋ยควบคุมการปลดปล่อยมีให้เลือกหลายสูตร หลายยี่ห้อ ราคาแตกต่างกัน ซึ่งสิ่งสำคัญในการพิจารณาเลือกมี 2 ส่วนด้วยกันคือ อัตราธาตุอาหารพืช และ สารเคลือหรือฟิลเลอร์

อัตราธาตุอาหารพืช : ที่จำหน่ายทั่วไปเป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารหลักคือ N-P-K ซึ่งบอกอัตราส่วนเป็นตัวเลขแสดงเปอร์เซ็นต์ของเนื้อปุ๋ย เช่น ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หมายความว่า ในปุ๋ย 100 กิโลกรัมมีธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมอย่างละ 15 กิโลกรัม ฉะนั้นปุ๋ยสูตร 15-15-15 มีเนื้อปุ๋ยรวม 45 กิโลกรัม และอีก 55 กิโลกรัมเป็นวัสดุเติมเต็มอื่น ๆ อาจเป็นดินเหนียวหรือส่วนผสมเพื่อปั้นให้เป็นเม็ด ที่เรียกว่า “ฟิลเลอร์”

ฟิลเลอร์ : เป็นวัสดุที่ทำหน้าที่ปลดปล่อยธาตุอาหารอย่างช้าๆ ซึ่งแต่ละยี่ห้อต่างก็มีฟิลเลอร์หรือสารเคลือบที่โดดเด่นแตกต่างกัน และเป็นนวัตกรรมเฉพาะที่พัฒนาขึ้นมาให้มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุดนั่นเอง

ปุ๋ยละลายช้ายอดนิยมในท้องตลาด

ปุ๋ยละลายช้า

ออสโมโค้ท ปลอดปล่อยปุ๋ยเมื่อสัมผัสความชื้นปริมาณสม่ำเสมอ

ออสโมโค้ท เป็นที่รู้จักกันดีในท้องตลาดและได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน เป็นปุ๋ยสูตรเสมอ 13-13-13 เคลือบด้วยสารเรซินธรรมชาติ (natural organic resin) เมื่อใส่ปุ๋ยในวัสดุปลูก น้ำจะซึมผ่านชั้นเคลือบเรซินเข้าไปละลายธาตุอาหารที่อยู่ภายในทำให้ธาตุอาหารค่อยๆ ซึมผ่านชั้นเคลือบออกมาโดยขบวนการออสโมซิสอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอนาน 3 เดือน เมื่อธาตุอาหารหมดจะเห็นเม็ดปุ๋ยใสมีแต่น้ำอยู่ภายในและจะสลายตัวได้เองโดยธรรมชาติ

ปุ๋ยละลายช้า

เฟอร์ติไลฟ์ ปลดปล่อยเมื่อสัมผัสความชื้นปริมาณสม่ำเสมอ

ปุ๋ยเฟอร์ติไลฟ์ Fertilife สูตร 14-13-13 เคลือบด้วยโพลีโอเลฟิน (Polyolefin) นวัตกรรมจากประเทศญี่ปุ่นที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาสู่พืชได้อย่างคงที่สม่ำเสมอ เมื่อสัมผัสกับน้ำหรือความชื้น น้ำจะเข้าไปละลายปุ๋ยทำให้สารเคลือบมีการยืดหยุ่นอ่อนตัวแล้วค่อยๆ ปล่อยธาตุอาหารอย่างต่อเนื่อง ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิและค่า pH ของดิน แม้ความชื้นสูงก็จะไม่ส่งผลให้ปุ๋ยปลดปล่อยธาตุอาหารจนหมด จึงลดการสูญเสียของปุ๋ยได้ดีเยี่ยม ปุ๋ยเฟอร์ติไลฟ์ปลดปล่อยต่อเนื่องนานถึง 3 เดือน ที่สำคัญยังเป็นปุ๋ยที่ผ่านการทดสอบจาก nasa อีกด้วย  

เทอร์โมโค้ท ปลดปล่อยเมื่อสัมผัสความชื้นปริมาณตามอุณหภูมิ

เม็ดปุ๋ยเทอร์โมโค้ท สูตร 14-13-13 เคลือบผิวด้วย เทอร์โมพลาสติค (Thermoplastic) ฟิล์มพลาสติคลิขสิทธิ์เฉพาะจากประเทศญี่ปุ่น ที่ประกอบด้วยรูพรุนที่มีขนาดเล็กใหญ่ตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ จึงสามารถปลดปล่อยปุ๋ยได้เหมาะสมตามเวลาที่พืชต้องการ โดยปริมาณการปลดปล่อยปุ๋ยจะสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของพืช แม้ว่าพืชจะได้รับน้ำในปริมาณมากก็จะไม่ปลดปล่อยปุ๋ยออกมามากจนเกินความต้องการ จึงไม่สูญเสียธาตุอาหารก่อนเวลาอันควร

ฟาร์มแนะนำ : ปุ๋ยควบคุมการปลดปล่อย 3 สูตรที่แนะนำนี้ เป็นที่นิยมในท้องตลาด (ผู้เขียนใช้จริงทั้ง 3 สูตร) มีอัตราปุ๋ยและฟิลเลอร์แตกต่างกัน ซึ่งก็ล้วนมีจุดเด่นเฉพาะให้เป็นทางเลือกพิจารณา วิธีเลือกที่ดีที่สุดคือเลือกตามเหมาะสมของผู้ใช้ ประกอบกับความต้องการปุ๋ยของพืชที่ปลูก โดยใช้ข้อมูลของปุ๋ยแต่ละยี่ห้อประกอบการตัดสินใจ

เรื่อง/ภาพ : JOMM YB

ปุ๋ยเคมีใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ติดตามบ้านและสวน Garden&Farm