ชวนคนกรุงฯ มาเป็นคนชนบทที่ “ข้ามันบ้านนอก”

พักกายพักใจกับบรรยากาศร่มรื่น ปลอดโปร่งเบาสบาย ใต้ร่มต้นจามจุรีขนาดใหญ่ ท่ามกลางฟาร์มคาเฟ่ที่ล้อมรอบ ด้วยแปลงผักนานาชนิด ที่ปลูกแบบปลอดสารเคมี และ สินค้าจากวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ ที่ ข้ามันบ้านนอก By บ้านนอกคอกนาเขาใหญ่ บนถนนรามคำแหง 125/1

ฟาร์มคาเฟ่ ข้ามันบ้านนอก แห่งนี้เกิดขึ้นจากความหลงใหลในชนบทของคุณตุ้ย สาริศา เกตุทอง จากฟาร์มสเตย์ บ้านนอกคอกนา เขาใหญ่ และ คุณเปิ้ล วีนัส มีวรรณ จากร้าน ตำแหลกบ้านนอก ที่อยากให้มี “กรุงเทพฯบ้านนอก” เพื่อให้คนเมืองกรุงฯ สามารถเดินทางมาพักผ่อน และ ทานอาหาร ได้ราวกับว่าหนีความวุ่นวายมาอยู่ชนบทอย่างแท้จริง

ข้ามันบ้านนอก
คุณตุ้ย “ข้ามันบ้านนอก”

คุณตุ้ยเล่าว่า “อยากให้ที่นี่เป็นสวนเกษตรที่อยู่ใจกลางเมือง ที่เราเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา แล้วเข้ามาเป็นชนบทใจกลางกรุงเทพฯ และ ยังคงคอนเซ็ปต์เหมือนที่เขาใหญ่ Farm to Table พืชผักที่ใช้ในครัวปลูกในพื้นที่ของเรา เป็นเหมือนสวนหลังบ้านเราสามารถดึงมาใช้ประโยชน์ได้จริง แปลงผักที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ทานอาหารเพื่อให้ลูกค้าเห็นว่า พืชผักที่ใช้มาจากตรงนี้จริง และ อยากให้เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่อยากทำแปลงผักหลังบ้านด้วย” คุณตุ้ย เลือกประเภทของพืชที่ปลูกเอง เพื่อให้สอดคล้องกับเมนูอาหารของที่นี่ เพราะ พืชทุกชนิดที่ปลูกใช้จริง สามารถบริโภคได้

ข้ามันบ้านนอก

ผักสลัด เรดโอ๊ก กรีนคอส จะแบ่งการปลูกเป็น 3 ช่วง จะเห็นได้ว่ามีทั้งต้นเล็ก ต้นกลาง ต้นใหญ่ เพื่อให้มีผักสดให้ทานได้ตลอด

ข้ามันบ้านนอก

ส่วนผักสวนครัว จะอยู่ฝั่งร้านตำแหลกบ้านนอก ทำให้เก็บผักจากแปลงแล้วเข้าครัวได้เลย นอกจากนี้ สามารถอุดหนุนผักออร์แกนิกที่ปลูกในคาเฟ่ได้อีกด้วย

ข้ามันบ้านนอก
แปลงผักที่อยู่ด้านหลังของร้านตำแหลกบ้านนอก
ข้ามันบ้านนอก

ส่วนอาคาร และ ภูมิทัศน์ของคาเฟ่ ได้รับการออกแบบจาก บ้านไร่สตูดิโอ โดย มีคอนเซ็ปต์ในการออกแบบครั้งนี้ตามความต้องการของคุณตุ้ย ที่อยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นป่าในเมือง เหมือนว่าคนเมืองกรุงฯ ได้ไปอยู่บ้านนอก ส่วนชื่อของคาเฟ่ ก็มาจากการที่คุณตุ้ยเป็นเกษตรกรสาวจากเขาใหญ่ได้เดินทางมากรุงเทพฯ จึงเรียกตัวเองว่าข้ามันบ้านนอก

การดีไซน์ของอาคาร มีการออกแบบให้คล้อยตามบ้านนอกคอกนา แต่ปรับให้มีความทันสมัยขึ้น โดยเลือกใช้วัสดุที่มีความสว่างจากไม้สนธรรมชาติ เพื่อให้ความรู้สึกที่อบอุ่น วัสดุหลังคา ใช้ใบจากเทียมเพื่อความคงทน มีการยกตัวของอาคารให้สูงขึ้น เพื่อรองรับปริมาณน้ำจากคลองที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน

บรรยากาศภายในอาคารให้ความรู้สึกที่อบอุ่น
สินค้ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนจากทั่วประเทศ

ส่วนของภูมิทัศน์ สร้างบรรยากาศเหมือนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ โดยมีต้นจามจุรีขนาดใหญ่เป็นแกนหลัก เพื่อให้ผู้คนสามารถนั่งพักผ่อนได้ที่ใต้ร่มไม้ พร้อมกับสนามเด็กเล่นที่ผู้ปกครองสามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิด

สนามเด็กเล่นที่อยู่ใกล้กับบริเวณทานอาหารเพื่อให้ผู้ปกครองสามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิด

ในอนาคตคุณตุ้ยมีความตั้งใจอยากทำเวิร์คชอปให้เด็กๆ มาปลูกผักพร้อมกับครอบครัว หรือ ร่วมทำกิจกรรมกับทางโรงเรียน เพราะ สถานที่ใกล้เคียงมีโรงเรียนหลายแห่ง เพื่อเป็นกิจกรรมให้เด็กเรียนรู้การปลูกผักสวนครัว

เรื่อง : กิตตินัย อัศวเลิศลักษณ์

ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทร์ทองสุข

ไปตามหาไอเดียปลูกพืชผักและจัดสวนกินได้ ในหนังสือ Outdoor Café

James 500 Organic Farm Style คาเฟ่ของคนหัวใจฟาร์ม