รปภ.-ธุรการ-นักการตลาด ผู้เปลี่ยนดาดฟ้าอพาร์ตเมนต์ให้เป็นสวนผักออร์แกนิกกลางกรุง

เรากำลังยืนมองรถไฟฟ้าบีทีเอสวิ่งผ่านไปมาบนดาดฟ้าของอพาร์ตเมนต์ 4 ชั้นในย่านสาทร ทำเลที่มีมูลค่าที่ดินสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นย่านเศรษฐกิจ เต็มไปด้วยตึกสูง แสงสี เเละความเจริญ จนยากจะเชื่อว่ามีพื้นที่สีเขียวอย่างแปลงผักออร์เเกนิกซ่อนอยู่

บ้านริมรูฟท็อปฟาร์ม  (ฺBaanrim Rooftop Farm) คือฟาร์มผักสลัดออร์แกนิกเหนือดาดฟ้าอพาร์ตเมนต์อายุกว่า 20 ปี ที่เรากำลังกล่าวถึง โดยผักสวย ๆ ที่เห็นในแปลงปลูกเเบบลงดินนี้ไม่ใช่ฝีมือของใคร เเต่เป็นพนักงานที่ทำงานอยู่ในตึกเเห่งนี้เอง

เราได้พบกับคุณวี-วีรวรรณ กตัญญูวิวัฒน์ เจ้าของอพาร์ตเมนต์ สาวนักการตลาดที่ชำนาญเรื่องธุรกิจวัสดุปูพื้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเครือ บริษัท ไตรอาร์ชีย์ จำกัด ธุรกิจเกี่ยวกับงานก่อสร้างของครอบครัว แต่อีกมุมหนึ่งเธอคือ ผู้ดูแลฟาร์มผักบนดาดฟ้าขนาดเล็ก ที่เริ่มต้นจากระเบียงห้องไม่กี่ตารางเมตร สู่ฟาร์มผักออร์แกนิกที่จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ ส่งฟรีให้เเก่ลูกค้าที่อยู่บ้านในละเเวกใกล้เคียง รวมถึงเหล่าพนักงานออฟฟิศย่านสาทรผู้รักสุขภาพ โดยมีหัวแรงหลักคือ รปภ.ประจำตึก ที่ถอดชุดเครื่องแบบ เเละวางอุปกรณ์ป้องกันตัวลง แล้วผลัดหน้าที่มาพรวนดิน รดน้ำ ใส่ปุ๋ย รวมถึงยังมีเจ้าหน้าที่ธุรการประจำอพาร์ตเมนต์มาช่วยงานเป็นลูกมือด้วยอีกเเรง

•“เกษตรอินทรีย์”ต้องปลอดสารเคมีมากแค่ไหน?
•โรงเรือนปลูกผักออร์แกนิกสร้างสวนหลังบ้านให้เป็นอาหารชั้นดี
ปลูกผักสลัด ดาดฟ้า
คุณวี-วีรวรรณ กตัญญูวิวัฒน์ เจ้าของอพาร์ตเมนต์ที่มีสวนผักบนดาดฟ้าตึก
ปลูกผักสลัด ดาดฟ้า
โรงเรือนปลูกผักบนดาฟ้าชั้น 4 ของอพาร์ตเมนต์ย่านสาทร
ปลูกผักสลัด ดาดฟ้า
ภายในฟาร์มแบ่งโซนปลูกผักในแต่ละแปลงให้สลับหมุนเวียนกัน

“จุดเริ่มต้นมาจากคุณอาค่ะ ตอนนั้นท่านปลูกผักเป็นแปลงขนาดเล็กริมระเบียง เเบบปลูกทานกันเองในครอบครัว ทำให้เรามีผักสดใหม่รับประทานตลอด ซึ่งเป็นผักที่อร่อยมาก แล้วก็ปลอดภัยด้วย พอท่านเสียชีวิตวีเลยมาทำต่อตรงนี้ค่ะ ด้วยพื้นฐานเป็นคนชอบธรรมชาติอยู่แล้ว ทำแล้วสบายใจ ต่างจากงานประจำที่เป็นงานที่เครียด ทำให้เราเรียนรู้ว่าจะปลูกผักต้องค่อย ๆ ทำ เริ่มทดลองจากการปลูกผักสลัดก่อน เช่น กรีนโอ๊ก เรดโอ๊ก บัตเตอร์เฮด ผักครอส เเละสลัดแก้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผักที่อยู่ในเมนูสลัดค่ะ แต่พอทำมาสักพัก ผักเริ่มเยอะขึ้น จึงได้แบ่งปันให้คนอื่น ๆ ได้รับประทาน เมื่อเห็นเขาชอบทานเหมือนกันกับเราก็ดีใจ เลยลองขยับขยายพื้นที่ขึ้นมาปลูกบนดาดฟ้าตึก แล้วทำแปลงปลูกลงดินเเบบเป็นโรงเรือนไปเลย โดยใช้วัสดุก่อสร้างที่เหลือจากไซต์งาน ให้คนงานช่วยประกอบ มีคุณพ่อช่วยเดินระบบน้ำ มีรปภ.และเจ้าหน้าที่ธุรการ มาเป็นสองเรี่ยวเเรงสำคัญคอยดูแลแปลงผักให้”

 

รปภ.นักปลูกผักที่มีครูชื่อ Youtube

ปลูกผักสลัด ดาดฟ้า
คุณโอ- อธิศักดิ์ บุดชาดา รปภ.ประจำอพาร์ตเมนต์ ผู้เปลี่ยนดาดฟ้าตึกให้เป็นฟาร์มผักออร์แกนิกเเบบร้อยเปอร์เซ็นต์

ภาพสวนผักที่กำลังเติบโตอย่างที่เห็นในตอนนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดคนสำคัญอย่างผู้คิดค้นดูแลผักให้เป็นฟาร์มออร์แกนิกบนดาดฟ้าที่ไม่ใช่ระบบไฮโดโปนิกส์ในแบบที่เคยเห็น

“แรก ๆ ก็ดูจากยูทูบครับ เวลาว่างจากงานก็เปิดดูคลิปดูว่าแต่ละที่เขาทำกันอย่างไร  มีวิธีทำอย่างไรให้เป็นสวนผักเเบบปลอดสารพิษ ดูวิธีทำผ่านคลิป แล้วทดลองทำตาม ผมเคยทำที่ต่างจังหวัดมาก่อนเลยพอมีพื้นฐานมาบ้าง” คุณโอ – อธิศักดิ์ บุดชาดา เล่าถึงบทเรียนปลูกผักออร์แกนิกส์ที่ได้มาจากโซเชียลมีเดีย

ก่อนเล่าต่อว่าหลังจากที่เจ้านายของเขาคิดจะทำฟาร์มผักจริงจัง เขาจึงเกิดความสนใจเริ่มจากไปดูงานตามฟาร์มต่าง ๆ ซึ่งทุกที่ล้วนแต่มีสูตรผสมดินและสูตรปุ๋ยเป็นของตนเอง เป็นแรงผลักให้พี่โอเริ่มทดลองทำตาม จนได้สูตรดินและสูตรน้ำหมักจุลินทรีย์ในแบบที่เหมาะสมสำหรับสวนผักแห่งนี้

 

ดินและปุ๋ยอินทรีย์คือหัวใจ

ดินปลูกผักสลัด ดาดฟ้า
กล้าผักที่มีอายุครบปลูกลงแปลงดินผสมปุ๋ยหมักที่มีธาตุอาหารสมบูรณ์
ดินปลูกผักต้องเป็นดินร่วนซุย และมีส่วนผสมของปุ๋ยหมักที่หมักนานถึง 6 เดือน

“เราผสมดินจากที่อื่นครับ หมักส่วนผสมต่าง ๆ ให้ได้ที่ แล้วจึงขนมาปลูกบนดาดฟ้า สูตรที่เราใช้คือขี้เค้กอ้อย 1 ส่วน กากมันแห้ง 1 ส่วน ขี้ลีบ 1 ส่วน หน้าดิน 1 ส่วน หมักไว้นาน 6 เดือน หากมีเชื้อราเป็นราขาว ๆ ขึ้นนั่นคือใช้ได้ ส่วนปุ๋ยอินทรีย์จะใช้น้ำหมักชีวภาพที่ผสมเอง แต่ละวันใช้ไม่เหมือนกัน อย่างวันจันทร์จะรดน้ำหมักถั่วเหลืองช่วยให้ผักรสชาติดี วันอังคารใช้น้ำหมักปลาช่วยให้ผักโตเร็ว ส่วนวันพุธใช้น้ำหมักผลไม้ช่วยให้ผักแข็งแรง กระตุ้นการเจริญเติบโต และวันพฤหัสบดีจะใช้น้ำหมักหน่อกล้วยช่วยบำรุงดินให้มีธาตุอาหารสมบูรณ์ ให้หมุนเวียนกันไปแบบนี้ทุก ๆ สัปดาห์ โดยต่อกับระบบน้ำหยดสลับกับการรดน้ำที่ทำประจำทุกวัน”

คุณโอเล่าต่ออีกว่า สูตรปุ๋ยชีวภาพต่าง ๆ ที่ใช้นั้นล้วนมาจากการศึกษาด้วยตนเองและเรียนรู้จากการดูงาน เมื่อทดลองแล้วเห็นผลดีจึงใช้มาตลอด ซึ่งการใช้น้ำหมักชีวภาพเป็นปุ๋ยมีประโยชน์เป็นเสมือนยาวิเศษที่ช่วยต่ออายุดินให้มีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ ลดขั้นตอนการเปลี่ยนดินสามารถใช้ดินได้นานขึ้น

ทำความรู้จักวัสดุปลูก

ขี้เค้กอ้อย Filter Cake เรียกอีกชื่อว่า กากตะกอนหม้อกรอง คือตะกอนที่เหลือจากการกรองแยกน้ำอ้อยในกระบวนการผลิตน้ำตาล มีลักษณะคล้ายขี้เป็ด ประกอบด้วยเศษชิ้นส่วนของใบ กาบใบ ราก และไขขี้ผึ้ง เศษดิน ทราย ก้อนกรวด เค้กขี้อ้อยมีสภาพเป็นด่างอ่อน-ปานกลาง จึงลดความเป็นกรดของดินได้ดี ประกอบด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อพืชไม่ว่าจะเป็นไนโตรเจน ฟอสฟอรัส เเละโพแทสเซียม

มันแห้ง หรือกากมันสำปะหลัง เป็นวัตถุดิบที่เหลือจากกระบวนการผลิตแป้ง นิยมแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ และใช้ประโยชน์ในเชิงเกษตร อย่างการนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการปรุงดิน

ขี้ลีบ คือ เมล็ดข้าวที่ลีบแบนแล้วถูกคัดออก เป็นวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร หนึ่งในส่วนผสมของปุ๋ยหมักเช่นเดียวกับแกลบ ฟาง ขี้เลื้อย เเละขุยมะพร้าว

 

แปลงปลูกจากเศษวัสดุที่กำลังจะกลายเป็นขยะ

ดินปลูกผักสลัด ดาดฟ้า

ท่อเหล็กจากนั่งร้าน แผ่น Geo Textile  แผงตะแกรง FRP (Fiberglass Reinforced Plastic) ล้วนแต่เป็นเศษวัสดุที่เหลือจากงานก่อสร้าง และไม่สามารถใช้ประโยชน์อื่น ๆ ได้ ซึ่งกำลังจะกลายเป็นขยะในขั้นต่อไป  แต่กลับได้รับการนำมาดัดเเปลงเปลี่ยนเป็นแปลงปลูกผักได้อย่างน่าทึ่ง ด้วยฝีมือคนงานก่อสร้างจากบริษัทของคุณวี โดยดัดแปลงท่อเหล็กเปลี่ยนเป็นโครงกระบะยกสูงมีหลังคาทรงจั่วสำหรับมุงพลาสติกโปร่งแสง รองฐานก้นแปลงปลูกด้วยแผ่นตาข่าย และแผ่น Gio Textile  ช่วยทำหน้าที่อุ้มดินและน้ำได้เป็นอย่างดี ส่วนพื้นทางเดินปูด้วยแผงตารางเรซินน้ำหนักเบา เพื่อลดปัญหาน้ำขังตามพื้น ล้อมพื้นที่ด้วยผ้ามุ้งช่วยป้องกันแมลงต่าง ๆ ทั้งยังบังลมไม่ให้พัดแรงเกินไปด้วย

ดินปลูกผักสลัด ดาดฟ้า
โครงสร้างของเเปลงผักทำมาจากเหล็กที่เคยเป็นนั่งร้านก่อสร้างมาก่อน มุงด้วยแผ่นพลาสติกสีขาว และกางมุ้งกันแมลงอีกชั้น
กระบะปลูกผัก
รองก้นแปลงปลูกด้วยแผ่น Geo Textile ที่เหลือทิ้งจากงานก่อสร้าง  เเละมีแผ่นตาข่ายช่วยรับน้ำหนักอีกชั้น

อากาศร้อนแก้ได้ด้วยระบบน้ำ

ระบบน้ำหยด
ทุกแปลงติดตั้งระบบน้ำหยดอัตโนมัติเพื่อให้ง่ายต่อการดูแล
ระบบพ่นหมอก
ลดอุณหภูมิให้ดาดฟ้าด้วยระบบพ่นหมอก ช่วยให้สวนผักบนดาดฟ้าเย็นขึ้น

ในส่วนของ “น้ำ” ปัจจัยหลักของการปลูกพืช เพื่อให้การรดน้ำเป็นไปอย่างสม่ำเสมอทุกเช้าเเละเย็น สวนแห่งนี้จึงใช้ทั้งระบบน้ำหยดอัตโนมัติ ซึ่งบางเวลาจะสลับเป็นการให้ปุ๋ยชีวภาพ อีกส่วนเป็นระบบพ่นหมอกอัตโนมัติ ด้วยสาเหตุที่ว่าพื้นที่ดาดฟ้าใจกลางกรุงเทพฯ ถูกล้อมด้วยตึกสูง เเถมยังต้องเจอกับสภาพอากาศร้อนอบอ้าว ซึ่งเป็นผลเสียต่อการเจริญเติบโตต่อผัก ระบบพ่นหมอกจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับสวนผักแห่งนี้ นอกจากจะติดตั้งระบบพ่นหมอกในทุกแปลงแล้ว ยังต้องกำหนดช่วงเวลาปิด-เปิดอย่างชัดเจน เพื่อคุมอุณหภูมิในช่วงบ่ายของวัน โดยมีผ้ามุ้งและแผ่นพลาสติกมุงหลังคา ช่วยเก็บอุณหภูมิและความชื้นไว้อีกทาง

เมล็ดพันธุ์ผักจากสวนออร์แกนิก

กล้าผัก
ส่วนของโรงเรือนเพาะกล้าเลือกตำแหน่งมีแสงอ่อน ๆ หลบแดดในช่วงบ่าย
กล้าผัก
กล้าผักที่กำลังงอก

“การเก็บเมล็ดพันธุ์ยังเป็นสิ่งที่ยากสำหรับเราค่ะ เพราะเพิ่งเริ่มมาได้เพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น เรายังต้องศึกษาเรียนอีกหลายอย่าง จึงต้องหาเมล็ดพันธุ์จากฟาร์มออร์แกนิกที่อื่นมาเป็นเพาะกล้าเองก่อน พออายุกล้าพอเหมาะที่จะลงแปลง จึงค่อยย้ายออกมาปลูกในแปลงดิน ซึ่งเราแบ่งเป็น 5 โซน สลับปลูกแต่ละโซนเพื่อให้เวลาได้พักดินหลังเก็บผัก จะทำให้ในฟาร์มเรามีผักออกมาจำหน่ายตลอดเวลา” คุณวี เล่าต่ออีกว่า การปลูกผักบางชนิดสำหรับเธอไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างมะเขือเทศที่ใคร ๆ ต่างบอกว่า ปลูกง่าย ออกผลเร็ว แต่สำหรับที่นี่ ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร หากแต่เป็นผักกินใบอย่างสลัดนั้น ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเธอเลย

“ผักที่เลือกปลูกจะเป็นผักในเมนูจานสลัดค่ะ หลัง ๆ มาเริ่มทดลองปลูกเเรดิช ผักเคล ซึ่งเติบโตดีมาก กระแสตอบรับของคนรักสุขภาพก็ดี เพราะมีประโยชน์เยอะ ตอนนี้มีทดลองปลูกพริกหวาน ที่ตอนนี้เริ่มออกผลให้ชื่นใจเเล้วค่ะ”

•เคล็ดลับเพาะกล้าผักให้งอกสมบูรณ์
ปลูกพริกหวาน
พริกหวานอยู่ช่วงทดลองปลูกในกระบะ ออกผลเติบโตดี รอสำหรับการเก็บเกี่ยว
ปลูกผักเคล
ผักเคล ผักกินใบที่ตัดใบแบ่งขายได้หลายครั้ง

ปลูกผักเคล

ธุรการที่วางงานเอกสารมาล้างผัก

เก็บผัก
คุณศา-วันวิศา เทพราชา ธุรการในสำนักงานที่เปลี่ยนหน้าที่มาดูแลผัก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คุณศา -วันวิศา เทพราชา เจ้าหน้าที่ธุรการผู้รับหน้าที่ทำเอกสารประจำอพาร์ตเมนต์ เป็นอีกคนหนึ่งที่เลือกทิ้งบทบาทหน้าที่เดิมมาสวมหมวกเป็นฟาร์มเมอร์ดูแลผัก จากพื้นฐานที่นับเป็นศูนย์ แต่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยการเรียนรู้ฝึกหัดกับเพื่อนร่วมงานคู่หูที่มีความชำนาญในเชิงเกษตรมากกว่า เธอเล่าว่าหน้าที่เดิมของเธอคือดูแลเอกสารของอพาร์ตเมนต์ให้เรียบร้อย แต่พอเริ่มมีสวนผักจริงจัง บทบาทจึงเปลี่ยนไป กลายมาเป็น “ผู้ดูแลผัก” อีกหน้าที่หนึ่ง ทั้งการพรวนดิน รดน้ำ ให้ปุ๋ย เก็บผัก ล้างผัก เเละแพ็คลงบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเธอเล่าว่าต้องระมัดระวังทั้งความสะอาดและปลอดภัย ซึ่งบางครั้งยังรับหน้าที่เป็นพนักงานส่งผักด้วย เมื่อมีออร์เดอร์สั่งซื้อมาจากลูกค้าบ้านใกล้เรือนเคียง พูดได้ว่าเป็นอีกหนึ่งงานที่เรียกได้ว่าให้ความสุขกับชีวิตได้อย่างเต็มคำ

•อยากกินผักให้อร่อย ต้องรู้วันเก็บที่เหมาะสม
เก็บผัก
ช่วงเวลาเก็บผักที่เหมาะสมคือ ตอนเช้า ซึ่งเป็นเวลาที่แสงแดดยังไม่แรงมาก จะช่วยให้ผักคงความสดได้นานขึ้น

ผลสำเร็จจากความพยายามทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง ทำให้ในตอนนี้ “บ้านริมรูฟท็อปฟาร์ม” ได้รับรองเครื่องหมายผักปลอดสารพิษจากกรมวิชาการเกษตร เป็นความชุ่มชื่นหัวใจของ 1 รปภ. 1 ธุรการ และ 1 นักการตลาด ที่เลือกให้การปลูกผักเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สร้างทั้งอาหาร ความสุข และรายได้ แม้จะไม่มากมายเท่ากับอาชีพประจำที่ทำอยู่ แต่ความสุขเเละความสบายใจที่ได้จากตรงนี้ นับว่าคุ้มค่าไม่น้อยเลย

บ้านริมรูฟท็อปฟาร์ม เปิดให้เข้าชมและซื้อผักได้ หรือจะสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ www.facebook .com/baanrimrooftopfarm


เรื่อง : JOMM YB

ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ


แหล่งเรียนรู้วิธีปลูกผักปลอดสารพิษ สำหรับสวนผักคนเมือง

ไอเดียทำ สวนผักแนวตั้ง หลังบ้านทาวน์เฮ้าส์

สวนผัก จัดสวย ปลูกประดับบ้านเป็นอาหารประจำครัว