อย่าให้ “ค้างผัก” เป็นเรื่องคาใจ ไปรู้จักค้างผักไม้เลื้อยแบบต่างๆ

การทำ ค้างผัก ค้างปลูกผัก เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนอาจจะกำลังอยากปลูกผักไว้ทานเองที่บ้านให้ความสนใจ อย่างผักจำพวกไม้เลื้อย เช่น ถั่ว แตง บวบ มะระ ฯลฯ ที่จำเป็นต้องมีค้างเพื่อให้ลำต้นไม้เหล่านั้นได้เกาะเลื้อยเติบโตขึ้นมา แต่สงสัยหรือไม่ว่าค้างมีกี่แบบ และเราจะเลือกใช้อย่างไร

การเลือกใช้ ค้างผัก รูปแบบต่างๆ นั้น ขึ้นอยู่กับงบประมาณ ความสะดวกในการปฏิบัติงานของผู้ใช้ ลักษณะของพื้นที่ ลักษณะของพันธุ์พืช และจุดประสงค์ในการใช้งานของค้าง โดยใช้เพื่อเก็บผลิตเพียงอย่างเดียว หรือเพื่อให้ความสวยงามกับพื้นที่นั้นๆ ด้วย โดยรูปแบบของค้างที่เลือกใช้ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแบบใดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

“โครงค้าง” ที่ดีนั้น ขอเพียงแค่มีความแข็งแรง ทนทาน สามารถรับน้ำหนักของต้นพืชที่ปลูกได้ก็เพียงพอแล้ว ส่วนความถี่ของเส้นเชือก เอ็น หรือตาข่ายที่ใช้นั้นขึ้นอยู่กับจำนวนกิ่งที่เราเลือกเก็บไว้ เช่น ถั่ว แตง ตำลึง ต้องเลี้ยงกิ่งหลายกิ่งเพื่อผลผลิตจำนวนมาก ก็ควรจะมีหลายเส้นสำหรับรองรับ ส่วนเมล่อนใช้เชือกเพียงเส้นเดียวเพื่อเลี้ยงเพียงหนึ่งกิ่งสำหรับให้ได้ผลที่มีคุณภาพ เป็นต้น

วันนี้เราจึงรวบรวมรูปแบบค้างที่นิยมใช้ในบ้านเรือนและทางการค้าแบบต่างๆ มาให้ทุกคนได้นำไปเลือกใช้ให้เข้ากับพืชที่กำลังจะปลูก พื้นที่ปลูก และที่สำคัญกว่าอื่นใด นั่นคือเม็ดเงินในกระเป๋าของแต่ละคน…ไปดูกันดีกว่าค่ะ ว่ามีแบบไหนให้เอาไปเลือกใช้บ้าง

1 | ค้างผัก แบบเสารั้ว

ค้างผัก

ทำได้ง่าย ต้นทุนไม่สูง ประหยัดพื้นที่ สามารถปรับใช้ใกล้แนวกำแพงบ้าน หรือผนังได้ แสงแดดส่องได้อย่างทั่วถึง ให้ผลผลิตดี ในช่วงแรกแต่เมื่อเวลาผ่านไปมักจะมีปัญหาเรื่องเถาที่ยาวขึ้นจนสูงเกินค้างไป ทำให้ต้องคอยหมั่นตัดแต่งอยู่เสมอ ค้างชนิดนี้จึงเหมาะกับพืชล้มลุก พืชอายุสั้น เถาเล็ก น้ำหนักเบา เช่น ดอกขจร อัญชัน เป็นต้น

ค้างแบบเสารั้วนี้สามารถเลือกแนวของเส้นเชือกได้ตามชนิดของพืช เช่น เมล่อน มะเขือเทศ ใช้เชือกยาวตั้งเพื่อช่วยพยุงลำต้น ส่วนพืชชนิดอื่นที่มีการเกาะเลื้อยแบบทั่วไปก็สามารถใช้เชือกแนวนอนตามปกติ

2 | ค้างผัก แบบกระโจม

ค้างผัก

ค้างแบบนี้คล้ายกับแบบเสารั้ว แต่มีการเพิ่มเสาทั้งสองข้างช่วยให้โครงค้างมั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้น จัดการเรื่องการตัดแต่งและเก็บผลผลิตจะทำได้ดีในช่วงแรกๆ แต่พอนานไปจะทำได้ยาก จึงนิยมใช้กับพืชล้มลุก หรือพืชที่อายุสั้น เช่น แตงกวา แตงร้าน หรือใช้กับพืชที่กินใบ กินยอด เช่น ผักปลัง ตำลึง เป็นต้น

3 | ค้างผักตัว A

ทำได้ง่าย ลงทุนน้อย ใช้พื้นที่ได้ถึงสองข้างของค้างนิยมใช้กับพืชล้มลุกหรือพืชอายุสั้น เช่น แตงกวา แตงร้าน เนื่องจากการจัดการเรื่องการตัดแต่ง และเก็บผลผลิตจะทำได้ดีในช่วงแรกๆ แต่พอนานไปจะทำได้ยาก ค้างแบบนี้สามารถนำมาปรับใช้เป็นค้างที่ปลูกเพื่อความสวยงามในสวนได้อีกด้วยเช่นกัน

4 | ค้างเพิงหมาแหงน

ค้างผัก

เป็นค้างรูปแบบใหม่ มีความแข็งแรงรับน้ำหนักได้พอสมควร สามารถปรับเปลี่ยนองศาของแผงค้างได้ จุดเด่นของค้างรูปแบบนี้ คือช่วยให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้สะดวก นิยมใช้ปลูกไม้ที่เก็บผล เช่น บวบ ฟักเขียว มะระ เป็นต้น

5 | ค้างตัว T

เป็นค้างที่สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับพื้นที่และชนิดพืชได้ง่าย สามารถเพิ่มจำนวนเส้นลวดบนเสาได้ อีกทั้งปรับองศาของค้างด้านบนได้ตามความต้องการ จึงเหมาะสำหรับพื้นที่เชิงเขา แต่ก็สามารถประยุกต์ใช้กับที่ราบได้เช่นกัน ช่วยให้สะดวกในการเก็บผลผลิต สามารถจัดการดูแลตัดแต่งกิ่งได้ง่าย ตัดแต่งโคนต้นด้านล่างให้โล่งเพื่อความสะดวกในการทำงาน เหมาะกับพืชที่มีขนาดใหญ่ พืชอายุยืน เช่น องุ่นผลสด

6 | ค้างถั่ว

ค้างผัก

โครงสร้างมีความแข็งแรงสูง ลักษณะเส้นที่มีทั้งแนวนอนและแนวตั้งเหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของพืชจำพวกถั่ว เช่น ถั่วลันเตา ถั่วฝักยาว ถั่วแขก อีกทั้งสามารถใช้เป็นค้างสำหรับไม้ประดับได้ดีอีกด้วย

7 | ค้างสี่เหลี่ยม

เก็บผลผลิตง่าย และสามารถปฏิบัติการจัดการต่างๆ ได้สะดวกสบาย ตัวค้างมีความสมดุล ไม่ล้มง่าย ควรระวังเรื่องทิศทางแถวในการปลูก โดยปลูกให้อยู่ในแนวทิศตะวันออก – ตะวันตก เพราะต้นพืชจะได้รับแสงแดดอย่างทั่วถึง ค้างชนิดนี้ใช้กับพืชได้เกือบทุกชนิด อีกทั้งสามารถปรับเปลี่ยนวัสดุที่ใช้ให้กลายเป็นซุ้มศาลาไม้เลื้อยสำหรับสวนสวยในบ้านได้ด้วย

8 | ค้างผัก ตารางหมากฮอส

ค้างแบบตารางหมากฮอส ลักษณะคล้ายกับค้างแบบสี่เหลี่ยม มีความแข็งแรง ทนทาน เก็บเกี่ยวผลผลิตได้สะดวก เหมาะกับพืชมีเถาขนาดใหญ่ ซึ่งโดยมากแล้วกิ่งก้านจะยาวพันกันไปมาสานกันจนกลายเป็นหลังคาทึบ ทำให้การตัดแต่งกิ่งทำได้ค่อนข้างลำบาก ควรมีการตัดแต่งกิ่งที่ไม่มีผล หรือกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ออก เพื่อให้แสงแดดส่องถึงข้างใต้ทรงพุ่ม

9 | ค้างตัว H

ค้างแบบนี้สามารถใช้ได้นาน เนื่องจากนิยมใช้วัสดุ – อุปกรณ์ที่ทนทาน เช่น เสาปูน โลหะ มักพบในแปลงปลูกที่มีการลงทุนสูง การจัดการที่ดี ค้างชนิดนี้มีความคงทน เก็บผลผลิตได้มาก และเก็บผลผลิตได้นาน

 

10 | ค้างแบบซุ้ม

ค้างชนิดนี้เป็นค้างที่นิยมนำมาใช้จัดโชว์เพื่อความสวยงามมากกว่า สามารถใช้เป็นอุโมงค์ครอบเหนือทางเดินในสวน เป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ ทั้งให้ร่มเงา ประหยัดพื้นที่ ส่วนการเก็บผลผลิตก็สามารถทำได้ง่าย แต่การจัดการตัดแต่งกิ่งค่อนข้างยากหากตัวซุ้มมีความสูงมาก

เรื่อง Miss JJ

ภาพประกอบ ศิริภัสสร ศิริไล


ติดตามบ้านและสวน Garden&Farm