ช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระแสการจัด สวนแนวตั้ง เป็นที่นิยมในวงกว้าง นักจัดสวนจึงมีพื้นที่สร้างผลงาน ด้วยการเนรมิตพรรณไม้บนผนังว่างเปล่าให้กลายเป็นสวนสวยงาม สร้างความสดชื่นให้สภาพแวดล้อม และใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
บุคคลสำคัญที่ต้องกล่าวถึงคือ แพทริก บลองซ์ (Patrick Blanc) นักพฤกษศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ผู้บุกเบิกการจัด สวนแนวตั้ง จนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก เขาได้แรงบันดาลใจจากการท่องเที่ยวสำรวจพรรณไม้ในป่าเขตร้อนชื้น ได้พบพรรณไม้ขึ้นบนโขดหินตามน้ำตก จึงคิดค้นการจัดสวนที่เรียกว่า Vertical Garden สวนแนวตั้ง ขึ้น หากพอจำกันได้เขาผู้นี้ เคยสร้างผลงานการจัดสวนแนวตั้งไว้ที่ศูนย์การค้า ดิ เอ็ม โพเรียม สยามพารากอน และเอสพลานาด ตามลำดับ
สวนแนวตั้ง มีประโยชน์นะรู้ยัง
นอกจากภูมิทัศน์ที่สวยงามแล้ว สวนแนวตั้งยังมีประโยชน์อีกหลายๆ ด้าน คือ
- ช่วยลดมลพิษและความร้อนจากภายนอกที่เข้าสู่ตัวอาคาร
- สร้างจุดเด่นหรือจุดดึงดูดสายตา ทำให้ผนังที่ว่างเปล่าดูมีชีวิตชีวาและเป็นฉากหลังที่สวยงาม
- บดบังสิ่งไม่พึงประสงค์ เช่น สีลอกหลุดหรือคราบตะไคร่ตามกำแพง รั้ว ผนังอาคาร ที่ดูแล้วไม่สวยงาม
- ให้ความเป็นส่วนตัวและสร้างบรรยากาศผ่อนคลายในมุมสงบ
- เพิ่มที่อยู่อาศัยให้พืชและสัตว์ เช่น ผีเสื้อ นก และแมลงต่างๆ เป็นระบบนิเวศขนาดเล็กที่ทำให้สวนดูมีชีวิตชีวามากขึ้น
สวนแนวตั้ง มีกี่แบบกันนะ
ผนังไม้เลื้อย
ใช้วิธีปลูกพรรณไม้ลงดินในกระบะหรือกระถาง แล้วปล่อยให้ต้นเติบโต ทอดเลื้อยไปตามผนังหรือโครงสร้างเพื่อยึดเกาะ เช่น โครงเหล็ก โครงไม้ ลวดสะลิง หรือเชือกไนลอน
วัสดุปลูก ดินร่วนผสมใบไม้ผุ กาบมะพร้าวสับ ขุยมะพร้าว
พรรณไม้ ควรเลือกไม้เลื้อยตามปริมาณแสงที่บริเวณนั้นได้รับ อาจเป็นไม้เลื้อยประดับ เช่น สร้อยอินทนิล เหลืองชัชวาล พวงชมพู มอร์นิ่งกลอรี่ ไอวี่ หรือเลือกพืชสมุนไพร เช่น ดีปลี รางจืด มาปลูก บางท่านอาจปลูกไม้ผลที่ทอดเลื้อย เช่น องุ่น เสาวรสก็ได้
ผนังผ้า
ประกอบด้วยโครงสร้างหลัก 3 อย่าง คือ โครงเหล็ก สำหรับรับน้ำหนักของสวนแนวตั้งทั้งหมด แผ่นพีวีซียึดกับโครงเหล็กทำหน้าที่เป็นชั้นกันน้ำ และถุงผ้าทำหน้าที่แทนภาชนะปลูกอาจทำจากวัสดุพอลิอาไมด์ (polyamide) หรือผ้าใยสังเคราะห์ที่นิยมใช้กันมากคือ จีโอเท็กซ์ไทล์ เพราะทนทาน ดูดซับน้ำและสารละลายได้ดี รากพืชสามารถยึดเกาะได้ แล้วใช้ลวดเย็บยึดติดกับผนัง เว้นระยะของถุงผ้าเพื่อระบายอากาศเป็นช่วงๆ แล้วเดินระบบน้ำหยดไปตามโครงสร้างเพื่อให้น้ำและสารอาหาร
วัสดุปลูก กาบมะพร้าวสับละเอียด ใยมะพร้าว ใยปาล์ม สแฟกนัม-มอสส์ เวอร์มิคูไลท์
พรรณไม้ เลือกใช้ตามปริมาณแสงแดดที่ได้รับ เน้นไม้โตช้าและดูแลรักษาง่าย ถ้าปลูกพรรณไม้ที่โตเร็วต้องหมั่นตัดแต่งสม่ำเสมอเพื่อควบคุมการเจริญเติบโต
บล็อกปลูกต้นไม้
เป็นบล็อกคอนกรีตหรือดินเผา มีช่องใส่ต้นไม้และเจาะรูระบายให้น้ำไหลผ่านลงมา เดินระบบน้ำหยดให้ผ่านแต่ละบล็อกตามระยะที่เหมาะสม รูปแบบนี้เหมาะกับพื้นที่ที่ไม่มีโครงสร้างให้ยึดบล็อก
วัสดุปลูก ดินร่วนผสมใบไม้ผุ กาบมะพร้าวสับ ขุยมะพร้าว
พรรณไม้ เลือกใช้ตามปริมาณแสงที่ได้รับ
แผ่นผนังเขียว
ใช้แผ่นหรือถาดพลาสติก หรือโลหะที่มีน้ำหนักเบายึดกับโครงเหล็ก โดยแบ่งเป็นช่องๆ เพื่อบรรจุพรรณไม้ เหมาะกับการปลูกพืชขนาดเล็กเนื่องจากมีพื้นที่บรรจุวัสดุปลูกน้อย
วัสดุปลูก ใช้วัสดุปลูกทดแทนดินน้ำหนักเบา เช่น ขุยมะพร้าว ใยมะพร้าว ใยปาล์ม พีตมอสส์ สแฟกนัมมอสส์ เวอร์มิคูไลท์
เพอร์ไลท์
พรรณไม้ ควรเลือกพรรณไม้ที่มีระบบรากตื้น เนื่องจากระบบนี้มีพื้นที่ใส่วัสดุปลูกน้อย พวกไม้คลุมดินขนาดเล็ก เช่น หนวดปลาดุก หูเสือ หูเสือด่าง ริบบิ้นเขียว ผักเป็ดเขียว ผักเป็ดแดง ก้ามปูหลุด หัวใจสีแดง หรือพืชอวบน้ำ เช่น กุหลาบหิน
กระถางแขวน
โดยออกแบบโครงเหล็กเป็นช่องสำหรับใส่กระถางให้เอียงซ้อนกันในแนวตั้ง นิยมใช้กระถางพลาสติกที่มีรูระบายน้ำ เพราะมีน้ำหนักเบา ข้อดีของสวนแนวตั้งประเภทนี้คือ สามารถเปลี่ยนกระถางได้ตามต้องการ อาจใช้ไม้กระถางเปล่าขนาด 8 นิ้วเป็นฐาน แล้วใช้ไม้กระถางขนาด 6 นิ้วซ้อนขึ้นไป
วัสดุปลูก ควรเลือกวัสดุปลูกที่ร่วนซุยและมีอินทรียวัตถุสมบูรณ์ เพื่อให้พืชเติบโตได้ดีในภาชนะจำกัด
พรรณไม้ ควรเป็นชนิดที่ทอดเลื้อยหรือห้อยลงเป็นระย้า เพื่อบดบังกระถางและโครงสร้างเหล็ก เช่น พรมกำมะหยี่ ริปซาลิส ปะการัง เดปด่าง ลิปสติก โบตั๋น สะระแหน่ประดับ ผกากรองเลื้อยสีม่วง นอกจากรูปแบบที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังสร้างสวนแนวตั้งเลียนแบบธรรมชาติโดยปลูกพืชแทรกผนังอิฐหรือหินสร้างเป็นผนังเขียวปกคลมุ ด้วยมอสส์ ลิเวอร์เวิร์ต แต่ต้องมีความชื้นในอากาศสูง และได้รับแสงแดดครึ่งวันเช้าถึงร่มรำไร โดยเลือกพืชที่มีระบบรากตื้น ปลูกแทรกระหว่างซอกหินหรืออิฐ เช่น เฟิน บีโกเนีย พรมกำมะหยี่ พรมออสเตรเลีย แอฟริกันไวโอเลต
Tips สวนแนวตั้งแต่ละประเภทต่างก็ให้ความสวยงาม และนำความเขียวสดชื่นมาสู่บริเวณนั้นๆ แต่ความใกล้เคียงธรรมชาติของแต่ละประเภทแตกต่างกัน จึงควรเลือกรูปแบบให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่และความสะดวกในการดูแลรักษาของผู้เป็นเจ้าของบ้าน
สวนแนวตั้ง ดูแลไม่ยาก
การดูแลรักษาสวนแนวตั้งไม่ยุ่งยาก หากท่านเตรียมพร้อมตั้งแต่เริ่มต้น เลือกโครงสร้างที่แข็งแรง เลือกพรรณไม้ให้ตรงกับสภาพแวดล้อมที่ปลูกเลี้ยง หากบริเวณที่ทำสวนแนวตั้งได้รับแสงแดดจัดหรืออยู่ส่วนบนสุดของแผงสวน ควรปลูกพรรณไม้ที่ชอบแสงแดดเต็มวัน ทนแล้งได้ หากอยู่ในที่ร่มหรืออยู่ด้านล่าง ควรเลือกพรรณไม้ที่ทนร่ม ชอบความชื้นมาก
การให้น้ำ
บริเวณที่ไม่สะดวกในการรดน้ำด้วยมือ เช่น สวนแนวตั้งภายในอาคารหรือสวนแนวตั้งที่สูงเกิน 5 เมตร ควรติดตั้งระบบน้ำหยดหรือเดินท่อน้ำซึมและตั้งเวลารดน้ำอัตโนมัติ หากปลูกเลี้ยงพรรณไม้ที่ต้องการความชื้นในอากาศสูง เช่น เฟิน มอสส์ อาจติดตั้งระบบพ่นหมอกเสริมและหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์จ่ายน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเสมอ
การตัดแต่ง
ควรตัดแต่งพรรณไม้เพื่อควบคุมขนาดและทรงพุ่มให้โปร่ง เพื่อให้แสงส่องมายังพรรณไม้อื่นๆ ได้ หมั่นตัดเอากิ่งแห้งเสียออก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคและแมลง
ข้อควรระวัง การตัดแต่งไม้เลื้อยคือ อย่าตัดลำต้นหรือกิ่งหลักที่เป็นท่อส่งสารอาหารและน้ำ มิเช่นนั้นอาจทำให้ไม้เลื้อยส่วนที่เหลือแห้งตายทั้งแผงได้
การให้ปุ๋ย
นิยมให้ปุ๋ยแบบสารละลายที่ใช้กับการปลูกพืชไฮโดรโปนิก (ปัจจุบันมีปุ๋ยแบบออร์แกนิก) และปุ๋ยละลายช้าทุก 2 – 3 เดือน
การเปลี่ยนต้นไม้
สวนแนวตั้งแบบกระถางแขวนสามารถเปลี่ยนต้นไม้ได้รวดเร็วและสะดวกที่สุด ควรเลือกพรรณไม้ที่ทนทาน เติบโตช้า ทนโรคและแมลง เวลาปลูกควรระวังไม่ให้รากกระทบกระเทือน หากต้องการเปลี่ยนดิน ควรฉีดพ่นน้ำที่รากหรือเขย่าเบาๆ ให้ดินหลุดออก เมื่อต้นไม้เดิมตายหรือโทรมควรเปลี่ยนต้นใหม่ โดยใช้ไม้กระถางขนาด 4 นิ้ว เพื่อให้มีระยะเวลาเจริญเติบโตบ้าง
ข้อมูลจาก คู่มือคนรักต้นไม้ “พรรณไม้ในสวนแนวตั้ง” โดย ธิวลักษณ์ บุนนาค
อ่านเรื่องราวของสวนแนวตั้งเพิ่มเติมที่ Vertical & Roof garden รศ.พาสินี สุนากร และทิพาพรรณ ศิริเวชฎารักษ์
รวมไอเดียสวนแนวตั้ง เนรมิตสีเขียวแบบประหยัดพื้นที่
ไอเดียจัดสวนแนวตั้ง พร้อมพรรณไม้
4 ประเภทสวนแนวตั้งไว้นำไปประยุต์ใช้